สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบ เมื่อฟื้นตัวจากการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะตื่นจากการทำผ่าตัดพร้อมมีสายต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น สายจากการให้น้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ สายระบายเลือดจากแผลผ่าตัด และสายที่ทำการบันทึกสัญญาณชีพจากอวัยวะต่างๆ
- ผู้ป่วยจะถูกตรวจประเมินระบบประสาททันทีหลังจากที่เริ่มตื่น เช่น ขอให้ทำการกระดกข้อเท้า กระดกนิ้วโป้งเท้า
- สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องอยู่ ICU หลังการผ่าตัดจะถูกย้ายไปอยู่ที่ห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการประมาณ 1-2 ช.ม.
- สำหรับผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ จะได้รับคำแนะนำให้พักที่ห้องอภิบาลใกล้ชิด (ICU) 1 วันก่อนย้ายไปห้องพักผู้ป่วยปกติ
- ในการผ่าตัดทางกระดูกสันหลังบางเทคนิควิธีอาจจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ผู้ป่วยทั่วไปจะได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารอ่อนได้ใน 24 ชั่วโมง
- เมื่อมีการปวดแผลผ่าตัด ควรแจ้งพยาบาลเพื่อรับยาระงับปวด อาการปวดจะลดลงอย่างมากเมื่อผ่านไป 2-3 วัน
- ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบ และใส่ท่อช่วยหายใจอาจมีอาการเจ็บคอ ปากแห้ง หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดได้
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง หรือฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาท ยาชาอาจยังไม่หมดฤทธิ์ทันที ควรระมัดระวังการกระแทก หรือโดนของร้อนจัด เย็นจัดบริเวณที่ยังชาอยู่
- หลังผ่าตัดหากปัสสาวะไม่ออก ให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลซึ่งอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะทิ้งเป็นการชั่วคราว
กี่วันหลังผ่าตัดจึงสามารถจะลุกขึ้นเดินได้ ?
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะลุกยืน และฝึกเดินในวันที่ 2 หรือ 3 พร้อมกับการถอดสายสวนปัสสาวะ และสายระบายเลือดออก อย่างไรก็ตาม แพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
เมื่อไหร่แผลจะถูกน้ำได้ ?
แผลจะถูกน้ำได้เมื่อแผลหายสนิทดี อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (หรือ 10-14 วัน) แพทย์จะพิจารณาจากแผล และแจ้งให้ทราบอีกครั้งก่อนกลับบ้าน
ทำไมบางคนแผลหายช้า ?
การหายของแผลขึ้นกับขนาด ความลึก ตำแหน่ง ตลอดจนการไหลเวียนโลหิตในบริเวณแผล นอกจากนี้ความแข็งแรงของผู้ป่วย อายุ และภาวะทางโภชนาการโรคประจำตัวบางอย่างจะมีผลทำให้แผลหายช้า เช่น โรคเบาหวาน
ต้องตัดไหมหรือไม่ ?
ขึ้นกับชนิดของไหมที่ศัลยแพทย์ได้เย็บไว้ ซึ่งมีทั้งชนิดไหมละลาย และไหมไม่ละลาย โดยแพทย์จะแจ้งให้ท่านทราบ ทั่วไปจะตัดไหมหลังผ่าตัด 10-14 วัน ยกเว้นถ้าเย็บด้วยไหมละลายในชั้นใต้ผิวหนังก็ไม่ต้องตัดไหม
จะต้องกลับมาพบแพทย์ครั้งแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาลกี่วัน ?
ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปจะประมาณ 1 สัปดาห์
หากแผลหายไม่ปกติจะมีอาการอย่างไร ?
หากแผลมีอาการปวดไม่ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป บวม แดงร้อน หรือมีไข้ หรืออาจมีสารคัดหลั่งออกมาจากแผล ปวดหลังมากผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบแพทย์
หลังผ่าตัดต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังส่วนคอ และหลัง นานเท่าไหร่
การรักษาแบบเลเซอร์หรือการรักษาที่ไม่มีแผลเปิด ไม่จำเป็นต้องใส่ Support ส่วนการผ่าตัดกระดูกสันหลังบางชนิดเช่น เจาะรูส่องกล้อง Full Endo TLIF อาจจะจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลัง ซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับคำแนะนำให้ใส่ไว้ 1-2 เดือนหรือตามคำแนะนำของแพทย์
ต้องพักฟื้นกี่วัน ? จึงสามารถกลับไปทำงานได้
ผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกสบายขึ้นมากใน 2-3 สัปดาห์ และสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ในบางรายอาจต้องใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ กว่าที่จะสามารถไปทำงานได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ลักษณะของงานที่ทำ และชนิดของการผ่าตัด
กิจกรรมในช่วงแรกหลังจากกลับบ้าน สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอและเอวทั่วไป
สัปดาห์ที่ 1-2
- ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ (ทั้งนี้ ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม)
- เดินในบริเวณบ้านทุกวันบ่อยเท่าที่จะทำได้ เพิ่มระยะทาง และเวลาขึ้นวันละน้อย โดยไม่ลืมสวมอุปกรณ์พยุงหลังหรือคอ และใช้ไม้เท้า
- ไม่ควรนั่งนานเกิน 20 นาที
- ขึ้นลงบันใด ต้องเกาะราวบันไดเสมอ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- ดูแลแผลตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ยกของได้บ้างที่หนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวเร็วไม่มีอาการปวดแล้ว จะสามารถขับรถระยะทางใกล้ๆ ได้ แพทย์อาจนัดให้ท่านกลับมาพบ เพื่อตรวจประเมินหลังผ่าตัด
สัปดาห์ที่สาม
- ยังคงต้องฝึกเดินพร้อมกับเพิ่มระยะทาง และเวลาเดินให้มากขึ้น
- ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ได้
- ยกของหนักได้ไม่เกิน 5 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ร่างกายฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องใช้ไม้เท้าในการเดิน สวมอุปกรณ์พยุงตามคำแนะนำของแพทย์
สัปดาห์ที่สี่
- การเดินจะทำได้มากขึ้น และไกลขึ้น
- อาจเริ่มออกกำลังกายเบาๆ ทำงานบ้านได้เพิ่มขึ้น
- สามารถขับรถได้ไกลขึ้น
- สามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ใช้อุปกรณ์พยุงหลัง หรือคอ ตามที่แพทย์แนะนำ
ในเดือนที่สอง และสามหลังผ่าตัด
จะสามารถเพิ่มกิจกรรมได้ เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ และออกกำลังกายที่ไม่หักโหม อย่างไรก็ตาม อาการตึงหลังอาจยังคงมีอยู่ไปจนระยะเวลา 3-5 เดือนจึงค่อยดีขึ้น คำแนะนำนี้สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดบางประเภทมีคำแนะนำที่แตกต่างกว่านี้ โดยศัลยแพทย์จะประเมินจากสภาพโดยรวมของผู้ป่วย และชนิดของการผ่าตัดเป็นรายๆไป ให้ยึดถือปฏิบัติตามที่แพทย์ผู้ผ่าตัดแนะนำเป็นหลัก แพทย์จะนัดกลับมาตรวจประเมินเป็นระยะๆ ท่านจึงควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กิจกรรมที่ควรทำ และควรเว้นหลังการผ่าตัด
กิจกรรมที่ต้องงด
- กิจกรรมที่ต้องก้มตัวสุด หรือแอ่นหลังสุดเป็นประจำ
- ไม่ยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม
- ก้มหลังยกของ ก้มหลังเก็บของให้ใช้วิธีย่อเข่าแทน
- ไม่นั่งท่าใดท่าหนึ่งนานเกิน 2 ชั่วโมง
- งดการนั่งพับเพียบ
- ไม่ควรอยู่ในที่ซึ่งมีการสั่นสะเทือน
- ไม่ทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทกที่หลัง
กิจกรรมที่ควรทำ
- เดินออกกำลังกาย โดยเพิ่มระยะการเดินขึ้นในแต่ละวัน
- สวมรองเท้าที่มีส้นนุ่มรองรับการกระแทกเมื่อเดิน หรือออกกำลังกาย
- เมื่อแผลหายดีแล้วแต่ยังมีอาการหลังตึง ให้ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เพื่อยึดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
ขับรถระยะทางไกลได้หรือไม่ ?
ท่านสามารถขับรถได้เมื่ออาการปวดของท่านทุเลาลง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะขับรถได้หลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ และจะสามารถขับรถได้ไกลขึ้นเมื่อผ่านไป 2-3 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถต่อเนื่องระยะทางยาว หากจำเป็นต้องพักร่างกายควรเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง
นั่งรถ-เดินทางไกล ควรทำอย่างไร ?
เมื่อต้องนั่งรถเดินทางไกล ควรปรับพนักพิงให้เอียงลงมากกว่าปกติ เพื่อถ่ายน้ำหนักไปยังแผ่นหลัง และพักเปลี่ยนท่าทางเป็นระยะๆ